ประวัติและความเป็นมา "กะลาราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง"

          "กะลาราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง"      กะลาราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง อีกหนึ่งสุดยอดเครื่องรางของขลังในดวงใจ ที่ใครๆ ก็ต้องการบูชาไว้ในครอบครอง ด้วยพุทธคุณเสริมดวง เสริมบารมี อันเป็นที่กล่าวขานมาแต่เก่าก่อน แต่กว่าจะมาเป็นเครื่องรางของขลังในตำนานเช่นนี้ประวัติความเป็นมาไม่ธรรมดาเลยทีเดียวครับ      เครื่องรางพระราหูในเมืองไทยนั้นมีหลายสำนัก แต่ที่นิยมมีเพียง 2 สำนักเท่านั้น คือ ราหูสำนักวัดศีรษะทองของหลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ แห่งอำเภอนครชัยศรี และราหูสายครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ แห่งเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ยังครองใจนักสะสมภาคกลางอย่างไม่เสื่อมคลาย       หลวงพ่อน้อย เกิดที่ตำบลศีรษะทอง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2435 บิดาชื่อ "นายมา นาวารัตน์" มารดาชื่อ "นางมี นาวารัตน์" หลวงพ่อน้อยเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนบุตรทั้งหมด 5 คน บิดาของหลวงพ่อน้อยเป็นแพทย์แผนโบราณและยังเชี่ยวชาญวิชาไสยศาสตร์ จนชาวบ้านละแวกนั้นต่างพากันเรียกท่านว่า "พ่อหมอ" และมีเรื่องราวกล่าวขานว่าท่านเคยสู้กับนักเลงต่างถิ่น แต่ศาสตราวุทต่างๆ ก็ไม่อาจทำอันตรายท่านได้ สมัยหลวงพ่อน้อยยังเป็นฆราวาส ว่ากันว่าท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยบิดามารดาทำงาน พอว่างจากงานก็ศึกษาอักขระเลขยันต์คาถาอาคม ตลอดจนตำรับยาจากบิดาจนเชี่ยวชาญ เมื่ออายุได้ 21 ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระอาจารย์ยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชณาย์ พระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "คันธโชโต" ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดแคระยะหนึ่งจากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศีรษะทอง ซึ่งขณะนั้น "หลวงพ่อลี" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และท่านได้มีโอกาสศึกษาวิชาต่างๆ เช่น วิชาสร้างวัวธนู และราหูอมจันทร์ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัย หลวงพ่อไต เป็นเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง       หลวงพ่อน้อยจะให้ลูกศิษย์หา กะลามะพร้าวตาเดียว (โดยปกติกะลามะพร้าวจะมีสองตา หนึ่งปาก) แล้วนำมาแกะเป็นรูปพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระราหูอมจันทร์ ซึ่งวิธีการสร้างนั้นก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่ง คือนอกจากต้องใช้กะลาตาเดียวแล้ว ยังต้องลงในฤกษ์สุริยคราสและจันทรคราส แถมต้องจัดแต่งเครื่องบวงสรวงครูบาอาจารย์ และต้องชำระกายให้สะอาดอีกด้วย จากนั้นจึงค่อยลงยันต์ "สุริยประภา" และยันต์ "จันทรประภา" ฤกษ์ในการลงนั้น หากเป็นยันต์สุริยประภาต้องลงในเวลาเกิดสุริยคราส และยันต์จันทรประภาต้องลงเวลาเกิดจันทรคราสเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ปีหนึ่งๆ เกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้ง และบางปีก็ไม่เกิดเลย ยิ่งสุริยคราสด้วยแล้วหลายปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง      ตำนานยันต์สุริยประภา และยันต์จันทรประภา ผู้อ่านหลายคนคงมีความสงสัยว่ายันต์สุริยประภา, จันทรประภา คืออะไร ทำไมหลวงพ่อน้อยต้องลงยันต์นี้ ก็ขอย้อนไปในตำนานสักหน่อย เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีพระฤาษีผู้ทรงฌาณสมาบัติ สถิตอยู่ที่เขายุคนธร ได้พิจารณาด้วยอำนาจทิพย์จักษุญาณแล้วเกิดปริวิตกว่า ในภายภาคหน้ามนุษย์ต้องเผชิญด้วยทุกข์เข็ญนานัปประการ พระฤาษีตนหนึ่งจึงได้สร้างพระยันต์วิเศษชื่อว่า "สุริยประภา" ส่วนฤาษีอีกตนก็ได้สร้างพระยันต์ "จันทรประภา" อันเป็นมหายันต์อันประเสริฐเพื่อเป็นที่พึ่งแก่เหล่ามนุษย์ ใครบูชาไว้จะบริบูรณ์พูนทรัพย์ ขจัดภยันตราย ใช้คู่กันเค้าว่าดีนักแล      ราหูกะลาแกะหลวงพ่อน้อยนั้นมีหลายฝีมือ เพราะลูกศิษย์ของท่านทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาสต่างมาช่วยกันแกะและลงคาถา แต่จะเว้นเฉพาะตรงกลางให้หลวงพ่อน้อยลงคาถาหัวใจ หลักการพิจารณาพระราหูของหลวงพ่อน้อย ให้พิจารณาที่ความเก่าของเนื้อกะลา หมายถึง ถ้าเป็นกะลาที่ไม่ได้ผ่านการใช้มาเลย ต้องมีความแห้งและเก่าแลดูเป็นธรรมชาติของเนื้อกะลา แต่ถ้าเป็นกะลาที่ผ่านการใช้งานมาเนื้อกะลาจะยุ่ยและเป็นขุย นอกจากนี้ยังต้องจดจำลายมือและการลงจารด้านหลังให้แม่น โดยเฉพาะลายมือตรงกลางซึ่งเป็นลายมือของหลวงพ่อ ถ้าไม่มีประสบการณ์และไม่ชำนาญในการดู มักจะเล่นผิด ว่ากันว่าพุทธคุณของราหูหลวงพ่อน้อยนั้นมีมากหลากหลายนัก ทั้งในด้านเมตตามหานิยม เสริมลาภ เสริมบารมี และช่วยในเรื่องบรรเทาอาการเจ็บป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ผู้บูชาจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม และคุณพระรัตนตรัยจึงจะดี      คาถาสุริยะบัพภา การบูชากลางวัน กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ      คาถาจันทรบัพภา การบูชากลางคืน ยัดถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ กาเสกัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ     #สถาบันรับรองและตรวจสอบวัตถุมงคลประเทศไทย เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ ชั้น 1 (เปิดบริการทุกวัน)<br /> เวลา 11.00 น. - 20.00 น. ติดต่อ 02-1938223-4 / 065-5824972         #ป๋องสุพรรณการันตี <br />         #สถาบันรับรองและตรวจสอบวัตถุมงคลประเทศไทย<br />         #ใบรับรองพระแท้ <br />         #ออกใบรับรองพระแท้ <br />         #ใบรับรองพระ<br />         #ตรวจสอบพระ <br />         #ตรวจสอบวัตถุมงคล

  อัพเดต: 22/10/2020

  อ่าน:  15,530  คน