ประวัติและความเป็นมา "เหรียญหล่อฉลุหลวงปู่ผาง เนื้อทองคำ   พิธีกองบัญชาการตำรวจภูธรปี 2519"

เหรียญหล่อฉลุหลวงปู่ผาง เนื้อทองคำ พิธีกองบัญชาการตำรวจภูธรปี 2519 พิธีเททองหล่อและพุทธาภิเษกพระกริ่งปัญจาคีรี อันยิ่งใหญ่นั้นมีที่มา โดยเมื่อพล.ต.ท.แสวง หงษ์นคร ท่านมารับผิดชอบกองบัญชาการตำรวจภูธร ๒ คุมอีสานทั้งหมด ๑๙ จังหวัด ในระยะนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น ในการต่อสู้ระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลไทย ฝ่ายรัฐต้องสูญเสียชีวิตข้าราชการทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือนอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงมีดำริอยากสร้างพระ วัตถุมงคล แจกจ่ายให้กับข้าราชการตำรวจในปกครองให้ทั่วถึงทั้งภาคอีสาน เพื่อคุ้มครองป้องกันภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ พิธีกองบัญชาการตำรวจภูธร พ.ศ.๒๕๑๙ นี้ นับได้ว่าเป็นการสร้างพระที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในสายพระป่าโดยมีพระคณาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ๙ รูปเข้าร่วมนั่งปรกบริกรรมคาถาปลุกเสก ตลอดคืนตามมหาฤกษ์เวลา ๐๐.๓๘ น. ถึง เวลา ๐๕.๐๙ น.ของวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ จนเป็นที่มาของตำนานพระเครื่องชุด ๙ อรหันต์ที่เล่าขานกันสืบมา มหาพิธีภูธร ๙ อรหันต์ ๘-๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ พิธีเททองหล่อพระกริ่งปัญจาคีรีของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ตามกำหนดการฤกษ์ เททองหล่อพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ปัญจาคีรี ซึ่งหลวงปู่ผางท่านได้กำหนดให้คือ เมื่อวันที่ ๘ ก.พ. ๒๕๑๙ เวลา ๐๙.๓๘ น. ซึ่งเป็นมหาอุดมมงคลฤกษ์ เพราะเป็นวันเดียวกันกับวันที่หลวงปู่ผางได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างพระเจดีย์ชัยมงคลที่วัดของท่าน ทั้งชาวบ้านและทางวัดได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมสถานที่เพื่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ หลวงปู่ได้บอกคณะกรรมการจัดสร้างพระกริ่งชุดนี้ ให้ไปทำพิธีพร้อมกันที่วัดของท่าน เพราะวันนั้นเป็นวันดี และมีพระคณาจารย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานองค์สำคัญหลายรูป จะมารวมกันที่นั่น นับว่าเป็นนิมิตดีอย่างมาก หาโอกาสเช่นนี้ได้ยากยิ่ง ทางคณะกรรมการเมื่อได้รับข่าวดีเช่นนี้แล้ว ก็จัดแจงพาคณะเดินทางจากกรุงเทพฯไปถึงวัดอุดมคงคาคีรีเขต อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ ๗ ก.พ. ๒๕๑๙ เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกาเศษ พอไปถึงวัดได้พาคณะไปกราบนมัสการให้ท่านทราบเรื่องแล้ว หลวงพ่อก็ชี้ให้เลือกสถานที่เอาตามสะดวกภายในบริเวณวัดของท่าน  ช่างสมร รัชชนะธรรม ซึ่งเป็นนายช่างผู้รับสร้างพระกริ่ง ก็ได้สั่งการให้ลูกน้องจัดการเตรียมสถานที่ ก่อเตาไว้สุมทองสุมหุ่น พราหมณ์จัดการตั้งราชวัตรฉัตรธงวงสายสูตรตามตำรับของพิธีพราหมณ์ เพื่อให้ถูกต้องตามตำรับโบราณาจารย์ ใช้เวลาในการนี้ประมาณสามชั่วโมงเศษจึงสำเร็จเรียบร้อย แล้วพาคณะพักผ่อนชมบริเวณวัดของท่าน แล้วกราบนมัสการเรียนถามท่านว่า "หลวงปู่ที่สระน้ำมีจระเข้จริงหรือเปล่า" หลวงปู่ท่านบอกว่า "คนมีบุญเท่านั้นที่จะได้เห็น" เมื่อสนทนากับหลวงพ่อได้เวลาพอสมควรจึงพากันไปอาบน้ำที่สระที่ว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ มีเด็กร่วมคณะคนหนึ่ง อยากจะลองดี เมื่อผลัดผ้าอาบน้ำเรียบร้อยแล้วก็ไปนั่งตรงหัวสะพานอาบน้ำ ยกมืออธิษฐานกล่าวออกมาดัง ๆ ว่า "ถ้าผมมีบุญ หรือถ้าหลวงปู่ผางศักดิ์สิทธิ์จริง ขอให้เห็นจระเข้เดี๋ยวนี้" พลันเสียงพูดขาดคำปรากฏว่ามีจระเข้ประมาณนับได้ ทั้งหมด ๖ ตัวโผล่พรวดขึ้นมาตรงหัวสะพาน ทำเอาคณะที่อยู่ตรงนั้นหลายคนอกสั่นขวัญแขวนขนลุกซู่ไปตามๆ กัน จระเข้ฝูงนั้นปรากฏตัวให้เห็นราวๆ ๓ นาที จึงดำน้ำหายไป พอคณะอาบน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาช่างสมรเริ่มสุมหุ่น ช่างได้จัดพิธีบูชาครูตามธรรมเนียมของช่างหล่อพระ ก็มีฝนตกปรอยๆ เป็นนิมิตอันดียิ่ง เพราะเมื่อตอนที่คณะไปถึงนั้นแดดร้อนเปรี้ยง ๆ เพราะเป็นหน้าแล้ง แต่พอเริ่มพิธีกลับท้องฟ้ามืดครึ้ม คืนนั้นทั้งคืนคณะผู้สร้างได้จุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มารับรู้ในการหล่อสร้างพระกริ่งครั้งนี้ด้วย และขอให้พระกริ่งชุดนี้จงศักดิ์สิทธิ์โด่งดัง สมกับชื่อเสียงของหลวงปู่ผาง ที่โด่งดังขจรขจายไปทั่วสารทิศ ปรากฏว่าคืนนั้นทั้งคืนฝนตกลงเม็ดปรอย ๆ ตลอดคืนจนกระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ ๘ ก.พ.๒๕๑๙ ฝนได้ตกลงมาอีกอย่างหนัก ทำให้ ช่างสมร และคณะผู้สร้างใจคอไม่สู้จะดีนัก เพราะถ้าฝนไม่หยุดตกการเททองก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากมาก เพราะหุ่นพระจะถูกน้ำฝนไม่ได้ แต่พอใกล้เวลาจริงๆ โหรได้ทำพิธีบูชาฤกษ์สังเวยบวงสรวงเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะถึงเวลาฤกษ์เททอง ๐๙.๓๘ น. หลวงปู่ผาง ได้มาทำพิธี  พอหลวงพ่อเข้าไปในประรำพิธีท่ามกลางสายตาคนนับเป็นพัน ต่างก็อัศจรรย์แปลกใจไปตามๆ กัน เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักพลันก็หยุดตกไปในทันตาเห็น พอได้เวลา หลวงปู่ผางหย่อนแผ่นทองลงไปในเบ้า พลันปรากฏเป็นแสงสายรุ้งพุ่งเป็นลำขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นเวลานานประมาณครึ่งนาที แสงนั้นจึงหายไป ได้เวลา ๐๙.๓๘ น. ตรง หลวงปู่ผางจับสายสูตรเททอง พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ลั่นฆ้องชัย พอสิ้นเสียงพระสวดชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่รอบๆ โรงพิธีก็พากันชุลมุนวุ่นวายยื้อแย่งด้ายสายสิญจน์ที่วงอยู่รอบโรงพิธี และบรรดาอิฐเตาหลอมพระและสิ่งประกอบในพิธีไปจนหมดสิ้น พอพิธีเรียบร้อยฝนก็ตกกระหน่ำลงมาอีกประมาณ ๕ นาที จึงหยุด เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก พอฝนขาดเม็ด ช่างจึงทำการตัดพระกริ่งออกจากช่อ บรรจุไว้ในลังเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปมอบให้หลวงปู่ผาง ปลุกเสกต่อภายในพระเจดีย์ชัยมงคล ที่วัดดูนจนถึงวันที่ ๑๓ ก.พ.๒๕๑๙ และในวันที่ ๑๓ ก.พ.๒๕๑๙ ทางคณะกรรมการผู้จัดสร้างจึงได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง ณ วัดป่าชัยวัน อ. เมือง จ.ขอนแก่น และในการนี้ได้นิมนต์พระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ มาร่วมแผ่พลังจิตปลุกเสกพระกริ่งพระชัยวัฒน์ปัญจาคีรีและวัตถุมงคล "พิธีตำรวจภูธรจัดสร้าง พ.ศ.๒๕๑๙" ของหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ซึ่งมีรายนามสุดยอดพระเถระสายป่าเข้าร่วมพิธีคือ  <br /> ๑. หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดหนองบัวบาน จ.อุดรธานี ๓. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ๔. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ๕. หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก จ.หนองคาย ๖. หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย ๗. หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ๘. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ จ.เลย ๙. หลวงปู่โส กสฺสโป วัดป่าคำแคนเหนือ จ.ขอนแก่น โดยจัดพิธีถูกต้องตามตำรับของการสร้างพระกริ่งของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) แห่งวัดสุทัศนเทพวราราม มี พล.ต.ท.แสวง หงษ์นคร อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๒ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้ฤกษ์เวลา ๑๙.๐๙ น. พราหมณ์ทำพิธีบูชาฤกษ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๙ รูปสวดพระคาถาจุดเทียนชัย หลวงปู่ผางจุดเทียนชัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ๑๙ รูป เข้าประจำที่นั่งปรกปลุกเสก พระพิธีธรรม ๔ รูป สวดพุทธาภิเษกไปจนถึงเวลา ๔.๓๘ น. หลวงพ่อเมตตาหลวง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ดับเทียนชัย เป็นเสร็จพิธี และเป็นที่มาของตำนานพระเครื่องชุด ๙ อรหันต์ที่เล่าขานกันสืบมา รายการวัตถุมงคลที่จัดสร้าง ๑. พระกริ่งปัญจาคีรี เนื้อทองคำ (ตามจำนวนสั่งจอง) เนื้อเงิน จำนวน ๑๙๙ องค์ เนื้อนวะ จำนวน ๒,๕๑๙ องค์ และเนื้อนวะก้นเงิน กรรมการ จำนวน ๑๕๘ องค์ ๒. พระชัยวัฒน์ เนื้อทองคำ (ตามจำนวนสั่งจอง) เนื้อนวะ จำนวน ๕๐๐ องค์ ๓. เหรียญหล่อลายฉลุ เนื้อทองคำ (ตามจำนวนสั่งจอง) เนื้อเงิน จำนวน ๒๙๙ เหรียญ เนื้อนวะ จำนวน ๑,๙๙๙ เหรียญ ๔. เหรียญรูปไข่ภูธร เนื้อทองคำ (ตามจำนวนสั่งจอง) เนื้อเงิน จำนวน ๕๙๙ เหรียญ เนื้อนวะ จำนวน ๙๙๙ เหรียญ เนื้อทองแดงรมน้ำตาล จำนวน ๙,๙๙๙ เหรียญ ๕. พระอุปคุต เนื้อทองคำ (ตามจำนวนสั่งจอง) เนื้อเงิน จำนวน ๒๙๙ องค์ เนื้อนวะ จำนวน ๑,๙๙๙  องค์ ๖. พระผงโต๊ะหมู่ แจกคณะกรรมการ จำนวน ๒,๐๐๐ องค์ (แจกคณะกรรมการจัดสร้างระดับ ผกก.สถานีตำรวจทั่วภาคอีสาน และนายทหารที่เป็นคณะกรรมการจัดสร้าง) ๗. เหรียญพิเศษพิมพ์เล็ก (เหรียญตุ้มหูยายซิ้ม) จำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ (แจกคณะกรรมการที่นำผ้าป่ามาทอดถวายในพิธี)

  อัพเดต: 01/12/2021

  อ่าน:  2,407  คน