เหรียญหลวงปู่ผาง รุ่นแรก ปีพ.ศ.2512 บล็อคสระเอหรือบล็อคคงเค วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น

เหรียญหลวงปู่ผาง รุ่นแรก ปีพ.ศ.2512<br /> บล็อคสระเอหรือบล็อคคงเค วัดอุดมคงคาคีรีเขต จ.ขอนแก่น หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต นามเดิม ผาง ครองยุติ เกิด วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล ณบ้านกุดกะเสียน ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมมารดา บิดา 3 คน คือ 1. นางบาง ครองยุติ 2. นายเสน ครองยุติ 3. นายผาง ครองยุติ โยมบิดาชื่อ ทัน โยมมารดาชื่อ บัพพา  เมื่ออายุได้ 20 ปี (พ.ศ.2465) ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทย และทดแทนพระคุณบิดามารดา สังกัดคณะมหานิกาย ณ วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีพระครูดวน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ศึกษาพระธรรมวินัย มีความรู้พอสมควร เมื่อบวชได้ 1 พรรษา จึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศ ครั้นอายุได้ 23 ปี ได้แต่งงานมีครอบครัวกับนางสาวจันดี สายเสมา คนบ้านแดงหม้อ ต.แดงหม้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี อยู่ด้วยกันมา 21 ปี ไม่มีบุตร มีแต่บุตรบุญธรรม          ต่อมาเมื่ออายุได้ 43 ปี จึงได้ชวนกันกับภรรยาออกบวช ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี ท่านได้มอบสมบัติทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดให้แก่นางหนูพาน ผู้เป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ส่วนตัวท่านได้เข้าอุปสมบทอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 ในคณะมหานิกายเช่นเดิม ที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีพระครูศรีสุตตาภรณ์ (ตื๋อ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ไม่ปรากฎ หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข อ.เขื่องใน จ.อึบลราชธานี แต่ท่านได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐาน อยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (เจ้าคุณพระญาณวิศิษฎ์) และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล และได้ทำการญัตติกรรมในคณะธรรมยุติ เมื่ออายุได้ 47 ปี ณ วัดบ้านโนนหรือวัดทุ่ง โดยมีพระครูพินิจศีลคุณ (พระมหาอ่อน เจ้าคณะอำเภอเขื่องใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาจันทร์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2491 แรม 2 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด ซึ่งเป็นการอุปสมบทเป็นครั้งที่ 3 ของท่าน          หลวงปู่ผาง ได้ปฏิบัติฝึกอบรมกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พอสมควรแล้วก็ได้ออกธุดงค์ ปฏิบัติกรรมฐานไปวิเวกโดยลำพัง และได้เข้าอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านนามน จ.สกลนคร ได้พอสมควร ก็ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี          ต่อมาในปี พ.ศ.2492 ได้มาพักจำพรรษาที่วัดป่าบัลลังก์ศิลาทิพย์ บ้านแทน ต.บ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น จำพรรษาได้ 1 พรรษา พอออกพรรษาแล้วท่านจึงได้เดินธุดงค์ไปทางอำเภอมัญจาคีรี ชาวบ้านโสกใหญ่ บ้านดอนแก่นเฒ่า บ้านโสกน้ำขุ่น ได้พร้อมใจกันมานิมนต์หลวงปู่ ไปพักภาวนาที่เชิงเขาภูผาแดง อ.มัญจาคีรี ชาวบ้านเรียกสถานที่นั้นว่า “ดูน” เนื่องจากมีน้ำไหลออกมาจากภูเขาตลอดปี ชาวบ้านแถวนั้นถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพระรูปใดเข้าไปอยู่ได้ และที่ตรงนี้เองที่ตรงกับที่ท่านเห็นในสมาธินิมิตทุกประการ ท่านจึงได้ชวนชาวบ้านสร้างเป็นวัด ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกว่า “วัดดูน” ตั้งแต่นั้นมา หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” แปลว่า วัดที่อุดมไปด้วยน้ำและมีภูเขาเป็นเขต ตั้งแต่พ.ศ.2493 ท่านจึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดดูนนี้เรื่อยมา และก็ได้เดินธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ ได้ผจญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มาอย่างดี จึงกล่าวว่าท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพระสุปฏิปันโนอย่างแท้จริงได้องค์หนึ่ง          ในปี พ.ศ.2505 หลวงปู่ได้สร้างวัดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ที่บ้านแจ้งทับม้า ต.นางาม อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่นตั้งอยู่ห่างจากวัดอุดมคงคาคีรีเขตไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “วัดป่าพัฒนาคีรี หรือวัดบ้านแจ้ง” มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่          พ.ศ. 2505 – 2507 ระยะทางที่สามแยกปากทาง จากถนนระหว่างอำเภอมัญจาคีรี – อำเภอแก้งคร้อ ไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเล็ก ๆ แคบ ๆ คดเคี้ยว การคมนาคมไม่สะดวก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนลำบากมาก หลวงปู่จึงได้ประชุมชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่ถนนผ่าน เพื่อช่วยพัฒนาตัดถนนใหม่ให้มีเส้นทางให้ได้มาตรฐาน ขนาดกว้างพอควร และที่ประชุมยอมรับมติที่หลวงปู่ปรารถนาและแนะนำ หลังจากมีมติทำถนนใหม่แล้ว ชาวบ้านทุกหมู่บ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาจนกระทั่งแล้วเสร็จ โดยหลวงปู่ได้อยู่เป็นประธานตลอด โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐแต่ประการใด ปัจจุบันเป็นเส้นทางสำคัญของชาวบ้านในการคมนาคมเพื่อการเกษตรขนส่งและอื่น ๆ          ในปี พ.ศ. 2507 ทางวัดอุดมคงคาคีรีเขตได้รับความร่วมมือจาก กรป.กลาง กรุงเทพฯ และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่จังหวัดอุดรธานี ได้นำหน่วยงานดังกล่าวพัฒนาเส้นทางไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต เป็นถนนขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 12 กิโลเมตร ลงหินลูกรังตลอดเส้นทาง และต่อมา วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2523 หลวงปู่ได้มีหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณทำถนนเส้นดังกล่าวเป็นถนนลาดยาง ซึ่งทางราชการก็ได้อนุมัติ และก็ได้ทำเป็นถนนลาดยางในเวลาต่อมา ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชนต่าง ๆ ดังเช่นที่ปรากฎในปัจจุบัน          พ.ศ. 2511 เมื่อท่านพระครูโอภาสสมณกิจ เจ้าคณะอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น วัดป่าธรรมวิเวก ได้ก่อสร้างอุโบสถ ท่านพระครูฯและคณะสงฆ์ พร้อมด้วยทายกทายิกาชาวชนบท ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ผางมาจำพรรษาที่วัดป่าธรรมวิเวกแห่งนี้ เพื่อเป็นประธานในการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งหลวงปู่ท่านก็ได้เมตตารับเป็นประธานด้วยดี และช่วยอุปถัมภ์มาตลอด เริ่มตั้งแต่อนุญาตให้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่าน เพื่อนำรายได้สมทบทุนสร้างอุโบสถ กระทั่งอุโบสถวัดป่าธรรมวิเวกเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการ หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ออกธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ และก็ได้สร้างสาธารณะสถานไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย จึงเป็นที่รู้จักและเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั่วไป          พ.ศ. 2523 หลวงปู่ผาง ได้เมตตารับเป็นประธานอำนวยการสร้าง “พระธาตุขามแก่น ศิโรดม” หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับพ่อค้า ประชาชน ภาคราชการ เอกชนทุกหมู่เหล่า เพื่อร่วมฉลองสองร้อยปีกรุงรัตนโกสินทร์ และในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2525 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เสด็จทำพิธีเปิดพระธาตุขามแก่น ศิโรดม ให้ประชาชนได้สักการะบูชา          ปัจจุบัน พระธาตุขามแก่น ศิโรดม ถือได้ว่าเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ได้สร้างเสร็จทันเแลืมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2525 พอดี ทางจังหวัดได้กำหนดให้มีงานนมัสการพระธาตุขามแก่น ศิโรดม เป็นงานประจำปีของจังหวัด ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม ของทุกปี ทอดผ้าป่าผ้าไหมสามัคคี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิายน พ.ศ.2524 หลวงปู่พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ทายก ทายิกา และคณะศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันจัดผ่าป่าสามัคคดี “ผ้าไหมไตรจีวร” ไปทอดถวาย 3 วัดด้วยกันคือ          1. ทอดถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ          2. ทอดถวายสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวธฺฒโน ป.ธ.9 วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเพทฯ ซึ่งต่อมาท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก          3. ทอดถวายพระพรหมมุนี (สนั่น จนฺทปชฺโชโต ป.ธ.9) วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ การไปทอดผ้าป่าสามัคคีของหลวงปู่ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ท่านปรารภจะทำมานานแล้ว ซึ่งเป็นการจัดผ้าป่าไปทอดถวายครั้งแรกในชีวิตของท่าน และก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน มรณภาพ          ต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 หลวงปู่ได้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เนื่องจากพบว่าหลวงปู่เริ่มเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร          23 กุมภาพันธ์ 2525 หลวงปู่ได้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลนี้ ด้วยอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร และยังพบว่ามีอาการของกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้นด้วย          16 มีนาคม 2525 คณะศิษย์ได้นิมนต์กลับวัด หลังจากหลวงปู่กลับถึงวัดได้ไม่กี่วัน ก็มีอาการอาเจียน ฉันอาหารและน้ำไม่ได้ ปัสสาวะน้อย และแล้ว          ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2525 หลวงปู่ได้ละสังขารในตอนบ่ายนั้น เวลา 16.45 น. ด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 80 ปี (34 พรรษา) นับเป็นการจากไปของพระ<br /> สุปฏิปันโน ผู้มีคุณธรรมอันเลิศรูปหนึ่ง ที่ไม่ปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ หรือติดในโลกธรรมแต่ประการใด ดังคำที่ท่านพูดไว้ว่า “มีชื่อไม่อยากให้ปรากฎ มียศไม่อยากให้ลือชา มีวิชาไม่ให้เรียนยาก” แต่คุณธรรมและปฏิปทาของท่านยังเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมิรู้ลืม ท่านยังเป็นพระในดวงใจของคณะศิษยานุศิษย์ไม่เสื่อมคลาย ตราบนานเท่านาน จึงได้จัดพิธีพระราชทาน เพลิงศพไว้อาลัยแด่หลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันอังคารที่ 24 มีนาคม 2528 เวลา 16.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ พุทธศาสนิกชนทั่วไปจากทั่วทุกสารทิศได้หลั่งไหลกันมาจากทุกภาคของประเทศไทย เพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต”

  อัพเดต: 04/07/2023

  อ่าน:  8,559  คน