พระปิดตาหัวบานเย็น หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อดินผสมผงบานเย็น

🔴พระปิดตาหัวบานเย็น หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เนื้อดินผสมผงบานเย็น การสร้างพระปิดตาพิมพ์นี้ เริ่มสร้างมาตั้งแต่หลวงปู่เอี่ยม ท่านยังจำพรรษาอยู่วัดโคนอนเหมือนพระปิดตาเนื้ออื่น ๆ (ก่อนปี พ.ศ.๒๔๔๑)กระทั่งมาอยู่วัดหนัง ยังมีการสร้างอยู่เรื่อย ๆ แต่ครั้งละไม่มากนัก เหตุที่เรียกพระปิดตาลักษณะนี้ว่า "พระปิดตาหัวบานเย็น" เนื่องจากเป็นพระปิดตาที่มีส่วนผสมของ"หัวบานเย็น"นั่นเอง    "บานเย็น" หรือ "ต้นบานเย็น" คือวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นผงหัวบานเย็น โดยมีพิธีกรรมและเคล็ดลับในการปลูกคือเริ่มต้นการจะเพาะปลูกต้นบานเย็นนั้น ท่านจะให้ศิษย์เตรียมกระถางใส่ดินมา 5 ใบ พร้อมเมล็ดต้นบานเย็น 10 เมล็ด ใส่ในกระถาง ๆ ละ 2 เมล็ด ซึ่งการเพาะจะทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นวันเข้าพรรษา พอปวารณาเข้าพรรษาเสร็จ กลับมาถึงกุฏิ ก่อนจะสรงน้ำ จะสั่งให้เพาะเมล็ดและให้ตักน้ำมาให้ท่านเสกรดน้ำทั้ง 5 กระถาง จากนั้นท่านจะประสิทธิ์บทพระคาถาสำหรับเสกน้ำรดต้นบานเย็น ให้แก่ผู้ทำหน้าที่โดยต้องรดทุกเช้าและเย็น.    ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน กระทั่งออกพรรษา จะเป็นระยะเวลาที่ "ต้นบานเย็น" เจริญงอกงามแตกกิ่งก้านสาขา ปวารณาออกพรรษาเสร็จ สั่งให้ศิษย์ขุดเอา "ต้นบานเย็น" ออกมาล้างทำความสะอาด รุ่งเช้าให้ฝานเป็นแว่นบาง ๆ ตากแดดจนแห้งสนิท จึงนำมาบด และร่อน ก็จะได้ "ผงหัวบานเย็น" เมื่อได้ "ผงหัวบานเย็น" เรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะนำไปปสมกับผงอื่น ๆ เช่น ผงเกสรดอกไม้ 108, ผงใบลาน นำไปจัดสร้างเป็นองค์พระต่อไป. ..การสร้างพระปิดตาของท่านนั้น มีพัฒนาการต่อเนื่องโดยตลอดเริ่มจากการแกะจากรากรักซ้อน มาสู่ยุคของการสร้างจากผงปถมังผสม "ผงหัวบานเย็น" และผงใบลาน ถัดมาเป็นยุคของเนื้อชินตะกั่ว เนื้อสัมฤทธิ์ ตามลำดับ เนื่องจากการสร้างหรือแกะจากรากรักซ้อน รวมถึงจากผงชนิดต่าง ๆ นั้นมีพิธีกรรมและขั้นตอนมากและสร้างพระได้จำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของบรรดาศิษย์ จึงคิดประดิษฐ์สร้างจากเนื้อชินตะกั่ว. ..“พระปิดตา” ของวัดหนังซึ่งหาชมหรือเช่าได้ยากที่สุดนั้น ได้มีการทำปลอมกันไว้มาก ควรระวังไว้ด้วย สำหรับพุทธคุณของ "พระปิดตาหัวบานเย็น" นี้ ก็ไม่ผิดไปกว่าพระแร่บางไผ่ หรือพระปิดทวารวัดทองเลย นั่นก็คือเยี่ยมด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และดีทางมหาอุตม์ด้วยครับ

  อัพเดต: 27/11/2024

  อ่าน:  34  คน